“เงินเยนอ่อนค่า” เป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นหยุดเติบโตจริงหรือ?

  Posted on 1 year ago (Feb 24, 2023)
32377
List of content
“เงินเยนอ่อนค่า” เป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นหยุดเติบโตจริงหรือ?

เสือใหญ่แห่งเอเชียทรุดหนักจากพิษเงินเยนจริงหรือ? ญี่ปุ่นในฐานะประเทศพัฒนาแล้วที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่จะล้มลงหรือไม่? บทความนี้จะนำเสนอภาพรวมเศรษฐกิจของญี่ปุ่นตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และอนาคต รวมถึงปัญหาที่ส่งผลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นทั้งหมด

 

เศรษฐกิจญี่ปุ่นในอดีต : จุดเริ่มต้นแห่งความรุ่งเรือง

จุดเริ่มต้นความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น คือ สงครามเกาหลีในช่วง ค.ศ. 1950 – 1953 ที่เปลี่ยนเศรษฐกิจญี่ปุ่นจากตกต่ำไปสู่การฟื้นตัวและกลายเป็นมหาอำนาจที่ทัดเทียมกับชาติตะวันตกเพราะขณะนั้นญี่ปุ่นถูกใช้เป็นพื้นที่ในการจัดเตรียมกองกำลังให้แก่สหประชาชาติ ทำให้ญี่ปุ่นได้รับอานิสงส์จากการที่มีคำสั่งซื้อสินค้าและบริการที่มีมูลค่าถูกส่งไปยังซัพพลายเออร์ของญี่ปุ่น ดังนั้น ในช่วง ค.ศ. 1950 – 1960 เศรษฐกิจของญี่ปุ่นจึงมีอัตราการเติบโตสูงเฉลี่ย 10% และเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 13% ในเวลาต่อมา ซึ่งการเติบโตนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทุกภาคส่วนของญี่ปุ่น

สิ่งที่เน้นย้ำถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วของญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 1960 คือ 1) การพัฒนาเศรษฐกิจผู้บริโภค ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ทำให้สามารถเพิ่มรายได้เป็น 2 เท่า และ 2) นโยบายอุตสาหกรรมใหม่ของกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจญี่ปุ่นเปลี่ยนไปเน้นที่ผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงและเทคโนโลยีสูงที่ออกแบบมาเพื่อการบริโภคในประเทศและต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ ญี่ปุ่นจึงกลายเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของเอเชีย

 

“เงินเยนอ่อนค่า” เป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นหยุดเติบโตจริงหรือ?

 

แม้ว่าในช่วงปี 1973 หลายประเทศจะเผชิญกับวิกฤตน้ำมันโลก (Oil Shock) แต่ญี่ปุ่นกลับเป็นประเทศที่สามารถผลิตสินค้าได้ตามกระแสในช่วงนั้น ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นผู้นำระดับโลกในด้านการต่อเรืออิเล็กทรอนิกส์, อุปกรณ์ออปติก, เหล็ก, รถยนต์ และเทคโนโลยีระดับสูง หลังจากนั้นการส่งออกของญี่ปุ่นจึงขยายตัวเรื่อยมา

สิ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นเปลี่ยนจากประเทศผู้แพ้สงครามที่มีเศรษฐกิจตกต่ำไปสู่ประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ คือ การที่ฐานอุตสาหกรรมของประเทศถูกทำลายจากสงคราม ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นจำเป็นต้องนำเข้าเครื่องจักรและเทคโนโลยีขนานใหม่ทั้งหมด ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ของญี่ปุ่นจึงมีคุณภาพมากกว่าโรงงานคู่แข่งในต่างประเทศอย่างสหรัฐฯ ยุโรป และชาติตะวันตก เมื่อประกอบกับแรงงานคนที่มีประสิทธิภาพและรัฐบาลที่พร้อมสนับสนุนก็ทำให้ญี่ปุ่นมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ญี่ปุ่นพลิกจากสังคมการเกษตรไปสู่สังคมอุตสาหกรรมก็ทำให้ภายในประเทศเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย ทั้งการปฏิรูปที่ดิน, ผลผลิตทางการเกษตร, เครื่องมือเครื่องใช้, การเพิ่มขึ้นของมลพิษ, รูปแบบการบริโภค และการใช้ชีวิต ดังนั้น ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากจึงตั้งคำถามถึงตรรกะทางเศรษฐกิจและการเมืองที่เชื่อมโยงการเติบโตกับความสำเร็จของชาติ

แม้จะมีเสียงที่เห็นต่าง แต่ในช่วงทศวรรษที่ 1980 ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นได้กลายเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดและซับซ้อนที่สุดแห่งหนึ่งของโลก รายได้ต่อหัวแซงหน้าสหรัฐฯ และผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 1 ใน 10 ของผลผลิตทั่วโลก

 

“เงินเยนอ่อนค่า” เป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นหยุดเติบโตจริงหรือ?

GDP ของญี่ปุ่นในช่วงปี 1961 - 2021 รูปภาพจาก Worldbank

 

เศรษฐกิจญี่ปุ่นในปัจจุบัน : ความเปลี่ยนแปลงหรือเสื่อมโทรม?

จากข้างต้น ความเจริญนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง แต่อย่างไรก็ดี การวิพากษ์วิจารณ์ของผู้คนก็ยังไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ จุดเริ่มต้นที่นำมาสู่สัญญาณแห่งความเสื่อมโทรม คือ วิกฤตเศรษฐกิจในช่วงทศวรรษที่ 1980 หรือภาวะฟองสบู่แตก ซึ่งทำให้ตลาดเงินและตลาดทุนในช่วง 1992 ของญี่ปุ่นพุ่งทะยานจนนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างลึกซึ้งและเกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา

เศรษฐกิจของญี่ปุ่นในช่วงศตวรรษที่ 21 สั่นคลอนระหว่างภาวะ Recession และ Anemic Economic Growth ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นค่อนข้างซบเซา แม้ว่านายกรัฐมนตรีหลายท่านจะพยายามหาแนวทางแก้ไขปัญหาแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเพราะถูกต่อต้านหลายครั้ง ดังนั้น เมื่อไม่สามารถเปลี่ยนแปลงนโยบายเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ ประกอบกับปัญหาเชิงโครงสร้างและความท้าทายอื่น ๆ เศรษฐกิจญี่ปุ่นจึงเข้าสู่ภาวะชะลอตัวและเริ่มถดถอย

สัญญาณดังกล่าวยิ่งเห็นได้ชัดมากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่มีปัญหาเงินเฟ้อเข้ามาเกี่ยวข้องจนกดให้เงินเยนอ่อนค่าหนักในรอบ 32 ปี และแม้ว่าปัจจุบันเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก เวียดล้อมไปด้วยความหลากหลายและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างเต็มที่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งปัญหาจากภายในได้ ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า เงินเยนที่อ่อนค่าลงจึงไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นหยุดเติบโต

 

“เงินเยนอ่อนค่า” เป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นหยุดเติบโตจริงหรือ?

ปัญหาที่ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นชะลอตัว 

การที่จะทำให้มหาอำนาจแห่งเอเชียประสบปัญหาจนเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะชะลอตัวได้นั้นมาจากหลายปัจจัย ซึ่งจะแบ่งออกเป็นปัญหาในอดีตและปัญหาที่กำลังเผชิญในปัจจุบัน ดังนี้

ปัญหาที่ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นชะลอตัวในอดีต

เศรษฐกิจญี่ปุ่นเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ หลายประการ ซึ่งส่วนมากเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างภายในที่ส่งผลกระทบมาถึงเศรษฐกิจในปัจจุบัน หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นปัญหาเรื้อรังที่เกิดมานาน อันได้แก่

1) วิกฤตการเงิน

การแข็งค่าของเงินเยนในปี 1971 จนทำให้การส่งออกได้รับผลกระทบ ซึ่งเมื่อประกอบกับวิกฤตน้ำมันโลกในปี 1973 ที่คุกคามรากฐานของความเจริญรุ่งเรืองหลังสงครามของญี่ปุ่น และภาวะฟองสบู่แตกในช่วงทศวรรษที่ 1980 ก็ทำให้จีนขึ้นมาเป็นมหาอำนาจแทนญี่ปุ่น

2) สังคมผู้สูงอายุ

การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของญี่ปุ่น เนื่องจากจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากความเปลี่ยนแปลงในช่วงการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้ประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปี ของญี่ปุ่นที่มีมากกว่า 7% ของประชากรทั้งหมดในปี 1970 เพิ่มเป็น 29.1% ในปัจจุบัน มากที่สุดอันดับ 1 ของโลก ทำให้ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงานจนเศรษฐกิจเติบโตช้าลง

 

“เงินเยนอ่อนค่า” เป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นหยุดเติบโตจริงหรือ?

ประชากรผู้สูงอายุในแต่ละประเทศ รูปภาพจาก Nippon

 

3) ความเหลื่อมล้ำ

ความเหลื่อมล้ำทางรายได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ, ความมั่งคั่งกระจุกตัว และปัจจัยทางสังคมอื่น ๆ จึงทำให้ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น

4) ความเห็นต่าง

ความเห็นต่างของคนในสังคม จากการที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตอย่างรวดเร็วและนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงอย่างหลากหลาย ทำให้มีหลายฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งแม้ว่านายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในขณะนั้นจะเห็นถึงปัญหาดังกล่าวแต่ก็ไม่สามารถแก้ไขได้เพราะมีเสียงค้านที่มากกว่า ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเดินมาสู่จุดปัจจุบันในที่สุด

 

“เงินเยนอ่อนค่า” เป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นหยุดเติบโตจริงหรือ?

ปัญหาที่ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นชะลอตัวในปัจจุบัน

นอกจากปัญหาจากในอดีตที่ส่งผลถึงเศรษฐกิจปัจจุบันของญี่ปุ่นแล้ว ปัญหาในปัจจุบันเองก็มีส่วนในการซ้ำเติมให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะชะลอตัวด้วย ซึ่งปัญหาในปัจจุบัน มีดังนี้

1) ภาวะเงินเฟ้อ

ปัจจัยหลายอย่างได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น แต่สิ่งที่เน้นย้ำให้ปัญหาชัดเจนมากขึ้น คือ ภาวะเงินเฟ้อในปี 2022 ที่ทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างหนัก ซึ่งเงินเฟ้อของญี่ปุ่นสูงสุดในรอบ 33 ปี กดดันให้เงินเยนอ่อนค่าหนักสุดในรอบ 32 ปี ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศหยุดชะงัก ส่งผลให้ญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่ฟื้นตัวช้าตามหลังประเทศอื่น ๆ

2) การขาดดุลการค้า

ญี่ปุ่นขาดดุลการค้าหนักเป็นประวัติการณ์ถึง 3.5 พันล้านเยน ในเดือนมกราคม 2023 การขาดดุลนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องกว่า 18 เดือน ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ปี 2015 ขณะที่หนี้ของรัฐก็เพิ่มขึ้นในอัตรามหาศาล ทำให้ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวและการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น อีกทั้ง ยังทำให้การส่งออกของญี่ปุ่นลดลง ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ญี่ปุ่นอาวุโสจาก Capital Economics คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 2023 น่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอย

 

“เงินเยนอ่อนค่า” เป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นหยุดเติบโตจริงหรือ?

การขาดดุลการค้าของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รูปภาพจาก Trading Economics

 

3) ผลกระทบของโรคระบาด

ตั้งแต่โรคระบาดโควิด-19 ขยายการแพร่เชื้อไปทั่วโลกก็ทำให้เศรษฐกิจภายในของแต่ละประเทศหยุดชะงัก รัฐบาลจำเป็นต้องหาแนวทางในการแก้ไขโรคระบาดเป็นอันดับแรก ซึ่งญี่ปุ่นเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนัก

4) การบริหารงานของ BOJ

ก่อนหน้านี้ในช่วงเงินเฟ้อที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกต่างดำเนินนโยบายการเงินเพื่อคุมเข้มอัตราเงินเฟ้อ แต่ธนาคารกลางของญี่ปุ่น (BOJ) กลับเดินหน้านโยบายการเงินที่สวนทางกับธนาคารกลางอื่น ๆ ทั่วโลก ทำให้เงินเยนอ่อนค่าหนัก และส่งผลต่อการเทขายพันธบัตรญี่ปุ่นจนทำให้ BOJ ต้องเข้ามาอุ้มเพื่อกด Bond Yield ให้อยู่ในระดับต่ำ การแทรกแซงของ BOJ ในครั้งนี้จึงส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวมของญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม แม้เงินเยนจะเริ่มกลับมาแข็งค่า แต่เมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2023 ที่ผ่านมา เงินเยนของญี่ปุ่นกลับอ่อนค่าต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์อีกครั้ง หลังจากมีข่าวว่า Masayoshi Amamiya รองผู้ว่าการ จะได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าฯ BOJ คนใหม่ เนื่องจากความคาดหวังที่นโยบายการเงินและการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยของ BOJ อาจจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง

ปัจจัยลบต่าง ๆ ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นอัดฉีดเงินทุนอย่างมหาศาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รับมือกับสถานการณ์เงินเฟ้อและเงินเยนอ่อนค่า หนึ่งในวิธีการรับมือที่ญี่ปุ่นใช้ คือ การฟรีวีซ่าเพื่อดึงดูดการท่องเที่ยว

 

“เงินเยนอ่อนค่า” เป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นหยุดเติบโตจริงหรือ?

เศรษฐกิจญี่ปุ่นในอนาคต : ความหวังหรือจุดจบ

จากปัญหาและปัจจัยลบต่าง ๆ ที่ญี่ปุ่นเผชิญ ซึ่งส่วนมากเป็นปัจจัยเชิงโครงสร้างจากภายใน ดังนั้น หากญี่ปุ่นต้องการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ก็ต้องรื้อระบบใหม่เปลี่ยนมาใช้นโยบายที่เหมาะสมกับสถานการณ์ ทั้งนี้ เราจะเห็นได้ว่า ญี่ปุ่นในฐานะประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ หรือเรียกได้ว่า “ประเทศร่ำรวย” อยู่กับความสบายมานานกลับไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลง

นโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจและการค้าของญี่ปุ่นไม่เปิดกว้างสำหรับธุรกิจต่างชาตินัก อีกทั้ง นโยบายการเงินของ BOJ ก็ยังยึดมั่นที่จะผ่อนคลาย ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปัจจุบันด้อยกว่าจีน, เกาหลีใต้ และไต้หวันอย่างเห็นได้ชัด ด้านรายได้เฉลี่ยของประชากรญี่ปุ่นก็ต่ำกว่าด้วยเช่นกัน

ดังนั้น ญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศพัฒนาแล้ว แต่ปัจจุบันเศรษฐกิจกลับไม่เติบโตเท่าที่ควร เรียกได้ว่า “ย่ำอยู่กับที่” หากในอนาคตยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงแบบสวนทางแนวโน้มที่เป็นอยู่ เศรษฐกิจญี่ปุ่นน่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในที่สุด

ด้าน Marcel Thieliant นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของญี่ปุ่นจาก Capital Economics คาดการณ์ว่า GDP ของญี่ปุ่นในปี 20023 จะหดตัว 1.1% เมื่อประกอบกับการเติบโตของการส่งออกที่ชะลอตัวสวนทางกับการนำเข้าที่พุ่งสูงขึ้น จะทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นถดถอยลงในปี 2023

 

สรุป

โดยสรุป เศรษฐกิจญี่ปุ่นขณะนี้กำลังอยู่ในภาวะชะลอตัวจากปัจจัยลบหลายด้าน แต่ส่วนใหญ่มาจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง และถูกซ้ำเติมจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ ดังนั้น พิษเงินเยนที่อ่อนค่าลงจึงไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเดินหน้ามาถึงจุดนี้ 

อย่างไรก็ตาม หากญี่ปุ่นยังไม่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายในการบริหารงาน ญี่ปุ่นจะกลายเป็นประเทศที่ขาดเสน่ห์สำหรับนักลงทุนและนักธุรกิจต่างชาติจนเดินเข้าสู่ภาวะตกต่ำ ดังนั้น แนวทางการดำเนินนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจและการค้าของญี่ปุ่นจะเป็นอย่างไรต่อไปยังคงเป็นเรื่องที่น่าจับตามอง

 

Source : Britannica, Tradingeconomics1, Tradingeconomics2, Worldbank, Nippon, CNBC, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

สามารถศึกษาความรู้เพิ่มเติมดังนี้

คอร์สเรียนสำหรับมือใหม่ ฟรี!! : คลิกที่นี่

คลังบทความความรู้เพิ่มเติม : คลิกที่นี่

บทความรีวิวโบกเกอร์เพิ่มเติม : คลิกที่นี่

บทวิเคราะห์รายวัน : คลิกที่นี่


บทความ แนะนำ
คอร์สเรียน Forex ยอดนิยม