นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจปี 2566 จะเข้าสู่ภาวะ Recession แล้วมันคืออะไร? ส่งผลต่อตลาดเงินและตลาดทุนอย่างไร? นักลงทุนและเทรดเดอร์ควรเตรียมรับมืออย่างไร? ภาวะเช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร? และจะยังคงอยู่ไปนานเท่าไหร่? บทความนี้จะนำคุณไปค้นหาคำตอบทั้งหมด
Recession หรือภาวะเศรษฐกิจถดถอย คือ การหดตัวของวัฏจักรธุรกิจทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงอย่างเห็นได้ชัด ภาวะดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อทั้งประเทศและกลุ่มประเทศ ผลผลิตทางเศรษฐกิจ ความต้องการของผู้บริโภค และการจ้างงาน
การเกิด Recession สามารถสังเกตได้จากตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ 5 ประการ คือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP), รายได้, การจ้างงาน, การผลิต และยอดค้าปลีก โดยการตกต่ำนี้ค่อนข้างยืดเยื้อ หน่วยงานด้านสถิติให้ข้อมูลว่า ในช่วงดังกล่าว GDP มักจะลดลงติดต่อกันถึง 2 ไตรมาส แต่หากนานกว่า 4 ไตรมาส อาจหมายถึงการที่เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะตกต่ำ
ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นหนึ่งในวัฏจักรเศรษฐกิจที่ทั่วโลกต้องเผชิญ นั่นหมายความว่า เราไม่อาจหลีกเลี่ยงภาวะดังกล่าว แต่สามารถทำให้มันชะลอความรุนแรงได้ ซึ่งโดยปกติแล้ว ภาวะถดถอยนี้มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นเฉลี่ยทุก ๆ 7-9 ปี อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลังมานี้ ภาวะถดถอยเกิดขึ้นน้อยลงและกินระยะเวลาไม่นานนัก
Recession มีสาเหตุมาจากการหดตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์จำนวนมากต่างพยายามไขปัญหาว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย กระนั้น ทฤษฎีต่าง ๆ เหล่านี้ก็ยังไม่สามารถหาคำตอบที่ชัดเจนได้ แต่สามารถจัดประเภทได้อย่างกว้าง ๆ ดังนี้
การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องทำให้ต้นทุนทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นจนนำไปสู่ภาวะถดถอย หรือภาวะช็อกทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นวิกฤตการณ์ที่ไม่คาดฝันอันส่งผลให้เกิดความทุกข์ทางการเงินอย่างร้ายแรง ตัวอย่างเช่น การระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว
การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันนี้ทำให้ผู้บริโภค นักลงทุน หรือแม้แต่นักธุรกิจเตรียมรับมือไม่ทันจนต้องเกิดการกู้หนี้ยืมสิน เพราะรายได้ลดลงขณะที่หนี้สินเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงนำไปสู่ปัญหาทางการเงินและส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมในที่สุด
การเกิด Recession ในอดีต สาเหตุร่วมส่วนมาก คือ การเติบโตของสินเชื่อและการสะสมของความเสี่ยงทางการเงินในช่วงที่เศรษฐกิจดี จากนั้นค่อย ๆ หดตัวลงเมื่อเศรษฐกิจถดถอย การเก็งกำไรสินทรัพย์ต่าง ๆ ที่สูงเกินมูลค่าจริงทำให้เกิดการเทขายในช่วงเศรษฐกิจถดถอยจนเกิดภาวะฟองสบู่ และการเกิดเงินเฟ้อหรือเงินฝืดที่มากจนเกินไป เป็นต้น
ในช่วงเศรษฐกิจถดถอย ภาวะการเงินของประเทศมักจะอยู่ในความระส่ำระส่าย เมื่อประกอบกับวิกฤติการเงินที่พวกเขาต้องเผชิญ ทำให้หลายคนตื่นตระหนกในอุตสาหกรรมธนาคาร พวกเขาเชื่อว่าธนาคารอาจล้มจนเกิดการแห่ถอนเงิน (Bank Run) ทำให้ระบบการเงินภายในประเทศเสียสมดุล
การคาดการณ์ Recession ไม่ใช่เรื่องที่สามารถทำนายได้อย่างแม่นยำ เพราะทิศทางของเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูง อย่างไรก็ดี สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติ (National Bureau of Economic Research: NBER) ได้ทำการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากสัญญาณ ดังต่อไปนี้
เส้นอัตราผลตอบแทน (Yield Curve) ที่แสดงอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ โดยปกติ Yield Curve ของพันธบัตรระยะยาวมักจะมีการปรับตัวสูงขึ้น แต่หาก Yield Curve ระยะยาวต่ำกว่า Yield Curve ระยะสั้น นั่นหมายความว่า เกิดการผกผัน (Inverted Yield Curve) ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนอย่างหนึ่ง เพราะนักลงทุนกำลังแสดงความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจ
หากการสำรวจพบว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงอย่างต่อเนื่อง แสดงว่าผู้บริโภคกำลังวิตกกังวลและไม่มั่นใจในเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้น ๆ จนไม่กล้าที่จะใช้จ่าย ดังนั้น เมื่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจลดลง เศรษฐกิจจึงเข้าสู่ภาวะชะลอตัว
Leading Economic Index เป็นดัชนีชี้นำเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ถูกจัดทำโดย The Conference Board เพื่อคาดการณ์กิจกรรมทางเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งหากดัชนีดังกล่าวมีการปรับตัวลดลงก็อาจเป็นสัญญาณว่า เศรษฐกิจกำลังมีปัจจัยลบ
อัตราการว่างงาน ถือเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่มักจะได้รับการจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะมีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ดังนั้น หากอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น ย่อมหมายความว่า เศรษฐกิจกำลังชะลอตัวและอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยต่อไป
การปรับตัวของตลาดหุ้นที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันย่อมเป็นสัญญาณเตือนอย่างหนึ่ง เพราะนั่นหมายความว่า นักลงทุนกำลังเทขายหุ้นเป็นจำนวนมากจากความวิตกกังวลทางเศรษฐกิจจนส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้น
สัญญาณข้างต้นนี้เป็นเพียงสิ่งที่ใช้คาดการณ์ในเบื้องต้นของ NBER เท่านั้น ไม่อาจคาดการณ์เศรษฐกิจได้อย่างแม่นยำเสมอไป เนื่องจากเศรษฐกิจแต่ละช่วงย่อมมีปัจจัยกดดันและสนับสนุนแตกต่างกัน ดังนั้น ตัวชี้วัดเหล่านี้ก็อาจใช้ไม่ได้ผลเช่นกัน
เมื่อเกิด Recession จะส่งผลต่อหลายภาคส่วน ซึ่งหนึ่งในภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ คือ ตลาดเงินและตลาดทุน โดยสินทรัพย์ต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบมีดังนี้
สำหรับตลาดแลกเปลี่ยนค่าเงินที่เทรดเดอร์สามารถทำกำไรจากความเคลื่อนไหวของคู่เงินหนึ่ง ๆ ได้ เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยกับประเทศใดประเทศหนึ่ง ประเทศคู่ตรงข้ามย่อมไม่ได้รับผลกระทบหรือได้รับไม่มากนัก ดังนั้น เทรดเดอร์จึงสามารถเปิดสถานะเพื่อทำการซื้อและขายสกุลเงินของประเทศที่มีเศรษฐกิจแข็งแกร่งขึ้นซึ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศที่เศรษฐกิจกำลังประสบกับภาวะถดถอยอย่างหนัก
ตลาดหุ้น ถือเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ เนื่องจากแสดงให้เห็นถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างชัดเจน ทั้งจากกลุ่มผู้ประกอบการ นักลงทุน และผู้บริโภค ซึ่งหากเกิดเศรษฐกิจถดถอย นักลงทุนส่วนมากก็จะเทขายหุ้นไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า อย่างไรก็ตาม หุ้นก็มีทั้งที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ และหุ้นตั้งรับที่สามารถอยู่รอดได้แม้จะเกิดวิกฤติ
ทองคำ ถือเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ปลอดภัยที่นักลงทุนส่วนมากแนะนำ เนื่องจากเป็นสิ่งที่ช่วยกักเก็บมูลค่า ดังนั้น ในช่วงที่เกิดเศรษฐกิจถดถอย ทองคำจึงกลายเป็นทางเลือกที่นักลงทุนส่วนใหญ่เลือกใช้ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการลงทุน
สินค้าโภคภัณฑ์เป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการแปรรูปต่าง ๆ ดังนั้น หากเศรษฐกิจไม่ดี การบริโภคก็จะลดลง ซึ่งส่งผลต่อการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะผลผลิตทางเกษตรและอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่สินค้าโภคภัณฑ์ทุกประเภทที่จะได้รับผลกระทบ เนื่องจากสินค้าบางประเภทก็ยังคงได้รับความต้องการอยู่แม้จะอยู่ในช่วงวิกฤติ ซึ่งส่วนมากจะเป็นสินค้าที่เป็นโลหะมีค่า
พันธบัตรรัฐบาล เป็นอีกสินทรัพย์ปลอดภัยที่ได้รับความนิยม เพราะได้รับผลตอบแทนที่ค่อนข้างแน่นอนและมีความเสี่ยงต่ำ ดังนั้น ในช่วงเศรษฐกิจถดถอย ราคาพันธบัตรรัฐบาลจึงเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ นักลงทุนต้องพิจารณาถึงอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรและความสัมพันธ์กับอัตราดอกเบี้ยด้วย
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า การเทรด Forex เป็นการทำกำไรจากความเคลื่อนไหวของค่าเงิน ซึ่งสามารถเปิดสถานะการซื้อขายได้ทั้งตลาดขาขึ้นและขาลง ดังนั้น ในช่วงที่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย เทรดเดอร์จึงสามารถเทรด Forex ได้ตามปกติ เพราะความผันผวนของค่าเงินย่อมสร้างกำไรให้แก่เทรดเดอร์
อย่างไรก็ตาม หากต้องการทำกำไรในช่วงตลาดผันผวน เทรดเดอร์จำเป็นต้องมีทั้งความรู้ ประสบการณ์ ตลอดจนต้นทุนที่ค่อนข้างสูง ซึ่งหากคุณไม่พร้อมด้วยปัจจัยเหล่านี้ การเลือกคู่เงินที่มีความผันผวนไม่มากนักหรือการถอนตัวออกจากตลาดชั่วคราวอาจเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า เพราะแม้แต่เทรดเดอร์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกก็ไม่สามารถคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำ ดังนั้น การยอมรับความเสี่ยงและสถานการณ์จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่เทรดเดอร์จำเป็นต้องระลึกถึงอยู่เสมอ
สำหรับสกุลเงินที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง และสกุลเงินที่สามารถทำผลงานได้ดี แม้อยู่ในช่วงเศรษฐกิจถดถอย มีดังนี้
การซื้อขาย Exotic Currency Pairs และ Cross Currency Pairs มักถูกพิจารณาว่าเป็นคู่สกุลเงินที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในช่วงเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจากสกุลเงินเหล่านี้มีบทบาทน้อยมากในระบบการเงินโลก และมักมีแนวโน้มที่จะเกิดความผันผวนของราคาอย่างรุนแรงในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจถดถอย
สกุลเงินของประเทศที่มีเศรษฐกิจแข็งแกร่งหรือคู่สกุลเงินหลัก มีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้นในช่วงเศรษฐกิจถดถอย เพราะค่าเงินของประเทศเหล่านั้นมีโอกาสที่อัตราดอกเบี้ยจะยังคงอยู่ในระดับที่สูง และหากพิจารณาร่วมกับความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและการเงินก็จะทำให้ค่าเงินของประเทศเหล่านั้นมีโอกาสที่จะได้รับความนิยมสูงขึ้น
โดยสรุป Recession คือภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งส่งผลกระทบต่อหลายภาคส่วนทั้งภายในประเทศและกลุ่มประเทศ ดังนั้น ในช่วงสภาวะดังกล่าว นักลงทุนจำนวนมากจึงพยายามหลีกเลี่ยงสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ
อย่างไรก็ตาม การเทรด Forex ในช่วงดังกล่าวก็ยังสามารถทำได้ เพียงแต่ต้องมีการติดตามข่าวสารต่าง ๆ เพื่อหาสัญญาณการซื้อขาย การเปิดสถานะการซื้อขายแบบแบ่งออเดอร์หรือแบ่งไม้ การตั้งคำสั่งซื้อขายล่วงหน้า และการกำหนดจุดตัดขาดทุน (Stop Loss) ตลอดจนวางแผนการเทรด การจัดการความเสี่ยง และการบริหารจัดการเงินให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน
Source : Investopedia, Forbes, The Balance Money, Aximdaily, Dailyfx, Bound, Forex, Asktraders
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
สามารถศึกษาความรู้เพิ่มเติมดังนี้
คอร์สเรียนสำหรับมือใหม่ ฟรี!! : คลิกที่นี่
คลังบทความความรู้เพิ่มเติม : คลิกที่นี่
บทความรีวิวโบกเกอร์เพิ่มเติม : คลิกที่นี่
บทวิเคราะห์รายวัน : คลิกที่นี่