นโยบายการเงินคืออะไร ส่งผลอย่างไรต่อระบบเศรษฐกิจ ?

  Posted on 2 years ago (Sep 05, 2022)
2550
List of content
นโยบายการเงินคืออะไร ส่งผลอย่างไรต่อระบบเศรษฐกิจ ?

หากต้องการลงทุนในสินทรัพย์ใด ๆ ก็ตาม สิ่งสำคัญที่นักลงทุนควรทราบ และควรจับตามอง คือ นโยบายการเงิน เนื่องจากทุกครั้งที่มีการประกาศใช้นโยบายการเงิน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด ๆ ก็ตาม ล้วนส่งผลกระทบต่อสินทรัพย์ต่าง ๆ โดยเฉพาะหุ้น และค่าเงิน ซึ่งนโยบายทางการเงินที่มาจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะเป็นที่จับตามากที่สุด เนื่องจากเป็นแกนนำในการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางประเทศอื่น ๆ อีกทั้ง ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังเป็นสกุลเงินหลักในการลงทุนด้วยเช่นกัน

นโยบายการเงิน คืออะไร?

นโยบายการเงิน (Monetary Policy) คือ เครื่องมือที่ธนาคารกลางของแต่ละประเทศใช้เพื่อควบคุมปริมาณเงินโดยรวมที่มีอยู่ในระบบเศรษฐกิจ และส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศนั้น ๆ ด้วยการใช้กลยุทธ์ที่แตกต่างกันในแต่ละธนาคาร 

กลยุทธ์ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มักจะใช้ คือ การปรับอัตราดอกเบี้ย และการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดเงินสำรองของธนาคาร เป็นต้น ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นเครื่องมือหลักในการดำเนินนโยบายทางการเงิน

เป้าหมายของนโยบายการเงิน

นโยบายการเงินมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างสมดุลระหว่างปริมาณเงิน ราคา อัตราดอกเบี้ย ตลอดจนสินเชื่อที่มีอยู่ เพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวอย่างมีเสถียรภาพ รวมทั้งควบคุมอัตราเงินเฟ้อ และส่งเสริมเป้าหมายการจ้างงานอย่างสูงสุดด้วย

ประเภทของนโยบายการเงิน

ในสหรัฐอเมริกา ธนาคารกลางจะใช้นโยบายการเงิน 2 ประเภท ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ดังนี้

ประเภทของนโยบายการเงิน

1. นโยบายการเงินแบบหดตัว หรือนโยบายแบบเข้มงวด

ในช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัวมากจนเกินไป หรือช่วงที่เกิดภาวะเงินเฟ้อ ธนาคารกลางจะดำเนินนโยบายการเงินแบบหดตัวด้วยการเพิ่มอัตราดอกเบี้ย และจำกัดปริมาณเงินคงค้าง เพื่อชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจและลดอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งจะทำให้ราคาสินค้าและบริการในระบบเศรษฐกิจมีการปรับตัวสูงขึ้น ผู้บริโภคซื้อสินค้าได้น้อยลง อีกทั้ง การกู้ยืมเงินจะลดลง เนื่องจากดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น

2. นโยบายการเงินแบบขยายตัว หรือนโยบายแบบผ่อนคลาย

ในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว หรือถดถอย นโยบายการเงินแบบขยายตัวจะช่วยเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้มีการเติบโต เนื่องจากการลดอัตราดอกเบี้ยจะทำให้การออมน่าสนใจน้อยลง ขณะที่การใช้จ่ายของผู้บริโภค และการกู้ยืมเงินนั้นจะเพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขสถิติทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) อัตราเงินเฟ้อ และอัตราการเติบโตเฉพาะภาคอุตสาหกรรมและภาคส่วน ล้วนส่งผลต่อกลยุทธ์ในการดำเนินนโยบายการเงิน โดยธนาคารกลางอาจแก้ไขอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากเงินกู้กับธนาคารของประเทศ หรือแก้ไขจำนวนเงินสดที่ธนาคารต้องเก็บไว้เป็นทุนสำรองก็ได้เช่นกัน

นโยบายการเงินส่งผลอย่างไร?

ในการดำเนินนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางล้วนส่งกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศทั้งอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เงินสำรองของธนาคาร การประกอบการของบริษัท การลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ และการบริโภคของประชาชน แต่หากจะให้จำแนกเฉพาะด้านเศรษฐกิจและการลงทุน สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้

นโยบายการเงินส่งผลอย่างไร?

1. ผลกระทบในด้านการบริโภค

การบริโภค ถือเป็นภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากนโยบายการเงินมากที่สุด เนื่องจากการปรับอัตราดอกเบี้ยและปริมาณเงินจะส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ ดังนั้น ประชาชนที่มีการจับจ่ายใช้สอยเป็นประจำ จึงมักได้รับผลกระทบตามไปด้วย ซึ่งอาจจะเป็นการซื้อสินค้าได้ในปริมาณมากขึ้น แต่ใช้เงินน้อยลง หรือซื้อสินค้าได้น้อยลง แต่ใช้เงินเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้นก็เป็นได้ ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ที่ธนาคารกลางใช้ในขณะนั้น

2. ผลกระทบในด้านการลงทุน

ในแง่ของการลงทุน นโยบายทางการเงินจะส่งผลกระทบทั้งต่อการลงทุนของผู้ประกอบกิจการและนักลงทุน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในต้นทุน เช่น เครื่องจักร อาคาร ซอฟต์แวร์ วัตถุดิบ หรือแม้แต่ดอกเบี้ยเงินกู้ ถือเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการตัดสินใจลงทุนของกลุ่มผู้ประกอบการและนักลงทุน 

หากต้นทุนสูงขึ้น กำไรและมูลค่าของสินทรัพย์ลดลง การลงทุนก็จะชะลอตัวลง ในขณะเดียวกันหากต้นทุนต่ำ กำไรและมูลค่าสินทรัพย์เพิ่มขึ้น การลงทุนก็จะขยายตัวตามไปด้วยเช่นกัน จะเห็นได้ว่า “ต้นทุน” เป็นสิ่งที่ใช้ขับเคลื่อนการลงทุนของทั้งผู้ประกอบการและนักลงทุน

3. ผลกระทบในด้านการค้าระหว่างประเทศ

เมื่อธนาคารกลางมีการดำเนินนโยบายด้วยการปรับอัตราดอกเบี้ย การค้าระหว่างประเทศจะได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก อีกทั้ง ยังส่งผลไปถึงอุตสาหกรรมต่าง ๆ และการลงทุนในคู่สกุลเงินด้วยเช่นกัน

ตัวอย่างเช่น เมื่อเฟดลดอัตราดอกเบี้ย ราคาสินทรัพย์ของสหรัฐฯ จะตกลง นักลงทุนจึงย้ายเงินบางส่วนไปลงทุนในประเทศอื่น ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง และการที่เงินอ่อนค่าจะทำให้การส่งออกของสหรัฐฯ ถูกลง ขณะเดียวกัน การนำเข้าจะมีต้นทุนด้านราคาที่สูงกว่า นั่นหมายความว่า ชาวอเมริกันจะซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศมากกว่าการสินค้าที่นำเข้าราคาแพง และทั้งหมดนี้จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเพิ่มขึ้น

สรุป

กล่าวโดยสรุป นโยบายการเงิน ถือเป็นเครื่องมือที่ธนาคารกลางใช้ปรับสมดุลเศรษฐกิจภายในประเทศของตน ซึ่งมีกลยุทธ์ในการดำเนินนโยบายหลัก ๆ อยู่ 2 แบบ ภายใต้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ซึ่งการดำเนินนโยบายของธนาคารจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมทั้งหมด ดังนั้น นักลงทุนจึงต้องจับตามองการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางของประเทศที่ตนต้องการเข้าไปลงทุนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ถือเป็นแก่นหลักของธนาคารกลางทั่วโลก

อย่างไรก็ดี นักลงทุนควรมีการปรับพอร์ตการลงทุนในแต่ละสภาวะตลาด รวมถึงกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์หลาย ๆ หมวด เพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุน อีกทั้ง นักลงทุนควรติดตามข่าวสารอื่น ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนของคุณด้วยเช่นกัน

Source: ธนาคารแห่งประเทศไทยFederal Reserve

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

สามารถศึกษาความรู้เพิ่มเติมดังนี้

คอร์สเรียนสำหรับมือใหม่ ฟรี!! : คลิกที่นี่

คลังบทความความรู้เพิ่มเติม : คลิกที่นี่

บทความรีวิวโบกเกอร์เพิ่มเติม : คลิกที่นี่

บทวิเคราะห์รายวัน : คลิกที่นี่


บทความ แนะนำ
คอร์สเรียน Forex ยอดนิยม