Commissions คืออะไร ?

  Posted on 4 years ago (Jan 27, 2020)
6949
List of content
Commissions คืออะไร ?

ในการเทรด Forex ทุกคนคงจะต้องเคยเห็นหรือได้ยินคำว่า "Commission" มากันอย่างแน่นอน ซึ่งคำศัพท์คำนี้มีประโยชน์มากเพราะจะเป็นเครื่องมือในการช่วยประเมินโบรกเกอร์ที่เราเลือกใช้บริการ ว่ามีความจริงใจกับเรามากน้อยแค่ไหน เอาเปรียบเรามากน้อยแค่ไหน? มาดูกันครับกับคำว่า Commissions นั้นมีความหมายว่าอย่างไรกันครับ

 

ความหมายของ Commissions 

Commission คือ ค่าธรรมเนียมที่โบรกเกอร์เรียกเก็บจากเทรดเดอร์ในฐานะผู้ให้บริการในการเทรด ซึ่งโบรกจะได้กำไรจากค่าธรรมเนียมตรงนี้แหละครับ แม้ว่าบางโบรกเขาจะบอกว่าไม่คิดค่า Commission เพราะว่าจริง ๆ แล้วเค้าได้บวกกับค่า Spread (ค่าส่วนต่างของราคาซื้อและราคาขายของตลาดในขณะนั้น) ไปแล้วนั่นเอง ซึ่งอาจจะคิดเพียงแค่ $0.1 ต่อการเทรด 1 lot ($100,000) ก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพคล่องทางตลาด (Liquidity) หรือปัจจัยอื่นๆ ตามแต่โบรกเกอร์นั้น ๆ จะคิดคำนวณช่องทางรายได้ของเขาครับ

แต่ทั้งนี้ก็มีบางโบรกเกอร์ที่เก็บค่า Commission เพราะว่าค่า Spread ของเขาน้อยเกินไป หรือบางโบรกเกอร์หรือบางระบบบัญชีก็คิดทั้งสองอย่าง… ครับพวกที่ทำงานระบบการเงิน การธนาคาร โบรกเกอร์ ฯลฯ พวกนี้เขาจะสร้างอะไรที่สลับซับซ้อนให้เราตามไม่ทันเสมอ ๆ อยู่แล้วครับ

แต่ Commissions อีกคำ จะหมายถึง ค่านายหน้าที่โบรกเกอร์ให้เราเวลาเราหาลูกค้าให้เขาได้ เป็นเงินพิเศษตอบแทนจากทางโบรกเกอร์ที่คุณนั้นทำการชักชวนคนมาสมัครสมาชิกและทำการเปิดบัญชีกับโบรกเกอร์นั้น ๆ เช่น ชวนคนมาสมัครเป็นสมาชิกของทางโบรกเกอร์ XM, FBS เป็นต้น โดยผู้ชักชวนจะได้รับทั้ง % จากการสมัคร และ % จากทุก ๆ ยอดเทรดอีกด้วย ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการหาเงินเพิ่มขึ้นจากการเทรด forex ที่คุณควรรู้ แต่ในบทความนี้ผมจะข้ามไป เพราะได้กล่าวอย่างละเอียดในบทความ “Affiliate, IB, Partners, รีเบต คืออะไร” แล้วครับ

 

ความจริงเกี่ยวกับเรื่อง Commissions

ในการเทรด Forex นั้นเราจะต้องจ่ายค่าบริการให้โบรกเกอร์ ซึ่งเขาจะยอมเรียกว่าค่า Commissions หรือไม่ก็ตาม ซึ่งโดยรวมทั้งหมดหลายชั้นหลายซ้อนถือว่าสูงมาก เมื่อเทียบกับการซื้อขายหุ้น หรือกองทุนในบ้านเรา ซึ่งมีค่าคอมมิสชันจะอยู่ที่ประมาณ 0.2% ของมูลค่าที่ทำการเทรด

ดังนั้นการที่โบรคเกอร์ Forex ส่วนใหญ่ ทำการตลาดโดยอ้างว่า ฟรีค่าคอมมิสชัน (Free Commissions) ที่จริงแล้วมันไม่จริงเสียทั้งหมดครับ ซึ่งมันอาจทำให้เราเข้าใจผิดได้

ในตลาด Forex นั้น จะคล้าย ๆ กับตลาดอื่น ๆ นั่นคือมีการตั้งซื้อ (Bid) และตั้งขาย (Ask) ราคาตั้งซื้อ คือราคาที่เราสามารถขายได้ในขณะนั้น ส่วนราคาตั้งขายก็คือราคาที่เราสามารถซื้อได้ในขณะนั้น

ผลต่างระหว่างราคาตั้งซื้อและตั้งขายนั้นเรียกว่า Spread ยกตัวอย่าง EUR/USD ราคา Bid ที่ 1.5157 และ Ask ที่ 1.5160 ดังนั้นค่า Spread ของ EUR/USD จะเท่ากับ 0.0003 หรือ 3 PIPS ถ้าเราทำการเปิด Order ทำการซื้อขณะนั้น เราจะซื้อได้ที่ 1.5160 และ Transaction ของเราจะขึ้นเป็น -3 PIPS ทันที ถ้าเราปิดออร์เดอร์ขณะนั้นโดยอัตราแลกเปลี่ยนยังไม่เปลี่ยนแปลงเราจะขายได้ที่ 1.5157 และขาดทุนทันที 0.0003 หรือ 3 PIPS

Commission

Spread ยิ่งกว้างค่า Commissions ยิ่งสูง

จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่าถ้ายิ่ง Spread กว้างมาก เราก็จะต้องจ่ายส่วนต่างนี้มากขึ้นไปด้วย ส่วนต่างตรงนี้เองที่เป็นรายได้ของโบรกเกอร์ และเราหรือผู้เทรดจำเป็นจะต้องจ่ายทุกครั้งที่เปิด Order และทำการเทรด (ถ้าจริงใจกันจริงๆ เขาควรจะเรียกกันไปเลยตรง ๆ ว่า Commissions Spread ให้ชัด ๆ ไปเลยใช่ไหมครับ นี่แหละคนหัวหมอหัวการเงินเขาคิดและทำกันแบบนี้แหละครับ)

บางคนอาจจะเห็นว่า เสียแค่ 0.0003 จากราคาประมาณ 1.4 นั้นไม่เท่าไหร่เอง… ถ้าคิดเป็น % ก็แค่ประมาณ 0.03% เอง แต่อย่าลืมนะครับว่าการเทรด Forex นั้นมีระบบ Leverage ถ้า Leverage ที่ 1:100 นั้นก็เสมือนว่าเราส่งคำสั่งซื้อด้วยเงินทุน 100 เท่าจากเงินทุนจริงของเรา ดังนั้นถ้าเทียบกับเงินทุนจริงของเรา มันจะไม่ใช่แค่ 0.03% แต่มันจะเป็น 3% นั้นเอง หรือถ้าเทรดในระบบ Leverage 1:500 จำนวนเงินตรงนี้ก็จะยิ่งสูงขึ้นไปอีกเป็น 15% ของเงินทุนจริงของเรา คราวนี้จะเห็นชัดเจนเลยใช่ไหมครับ ว่าเขาฟันกำไรไปเหนาะ ๆ ขนาดไหน แบบนี้เรียก “เสือนอนกิน” ดี ๆ นี่เอง

 

Spread แต่ละโบรกเกอร์ แต่ละคู่เงิน แต่ละบัญชี แตกต่างกัน

Broker แต่ละที่จะมีค่า Spread ที่แตกต่างกันไป แต่ละบัญชีก็แตกต่างกัน รวมไปถึงคู่อัตราแลกเปลี่ยนแต่ละคู่ก็อาจมี Spread ที่แตกต่างกันด้วย หรือแม้กระทั้งคู่สกุลเงินคู่เดียวกัน แต่คนละช่วงเวลา บางโบรคเกอร์ค่า Spread ก็สามารถขึ้นลง และไม่ Fix ด้วยเช่นกัน ดังนั้นก่อนเปิดใช้บริการของโบรคเกอร์ ควรตรวจสอบค่า Spread ของโบรคเกอร์นั้นๆ ให้ดีก่อนนะครับ รวมไปถึงระบบ Spread ของโบรคเกอร์นั้น ๆ ว่าเป็นแบบ Fix คงที่ หรือเปลี่ยนแปลงได้ ในกรณีที่ใช้บริการของโบรคเกอร์ที่ไม่ Fix ค่า Spread ก่อนทำการเทรดทุกครั้ง ต้องตรวจสอบค่า Spread ในขณะนั้นก่อนส่งคำสั่ง ซื้อ-ขาย เพราะถ้ารีบร้อนเกินไป กลัวไม่ได้ราคาที่ลงไว้โดยไม่ได้ตรวจสอบ Spread ให้ดีๆ เมื่อคุณเข้าเทรดไปแล้วอาจจะตกใจภายหลังได้ครับ

จะเห็นได้ว่าการเลือกโบรกเกอร์ ค่า Spread ก็เป็นจุดสำคัญจุดหนึ่งที่สามารถลดค่าใช้จ่ายของเราได้ ถึงแม้มันจะน้อยเมื่อเทียบ กับราคาที่วิ่งขึ้น วิ่งลง ของอัตราแลกเปลี่ยน แต่ถ้าเราประหยัดตรงนี้ได้ แค่ 1-2% ต่อการเทรดแต่ละครั้ง แต่รวมๆ หลายๆ ครั้งก็เป็นจำนวนเงินไม่ใช่น้อยๆ เลยนะครับ

ดังนั้นที่ว่าโบรกเกอร์ Forex หลายโบรกเกอร์ ได้โฆษณาว่าฟรีค่าคอมมิสชัน (Commission) นั้นโปรดเช็คค่าอื่นๆด้วย เช่น ค่า Spread เป็นต้นครับ

 

Commission

Swap : คำอีกคำที่เกี่ยวกับคอมมิสชั่น

ค่า Swap (อ่านว่า สวอป) คือค่าผลต่างของอัตราดอกเบี้ย Overnight Interest บางทีก็เรียก Rollover ตามคู่เงินที่เราเทรด โดยค่า Swap มีทั้งแบบ Debit or Credit คือมีค่าทั้งบวกและลบ เช่น ถ้าเรา Buy EUR/USD เราก็จะได้ค่าดอกเบี้ยของการถือออเดอร์ข้ามคืน แต่ถ้าเรา Sell เราก็จะเสียในส่วนนี้ 

ดังนั้น Swap ก็คือดอกเบี้ยที่เราจะได้หรือเสียไปให้กับโบรคเกอร์ เมื่อเราทำการเปิดออเดอร์ทิ้งไว้ข้ามคืน (ช่วงตี 4 – ตี 5 ในเวลาประเทศไทย ซึ่งก็แล้วแต่เวลาของ Server ในแต่ละโบรกเกอร์) ดังนั้น หากคุณไม่ต้องการให้มีค่า Swap ที่เป็นลบเกิดขึ้นกับคุณ ให้พึงระวังในการเปิดออเดอร์ข้ามคืน โดยเฉพาะการเปิดออเดอร์ที่มีเป็นจำนวนหลายๆสัญญา เป็นต้น

โดย Swap จะคิดค่าที่ 5 PM ตามเวลาของ New York ตั้งแต่เวลาเปิดจนกระทั่งตลาดปิด คำนวณแบบวันต่อวัน ซึ่งเวลาช้ากว่าประเทศไทยประมาณ 12 ชั่วโมง โดยทุกจุดที่เข้าเราซื้อ-ขายภายในช่วงเวลาก่อน 5PM จะเกิดค่า Overnight Interest

แต่ถ้าซื้อขายเวลา 5.01 PM จะถูกนับไปเป็นอีกวันหนึ่ง และค่า Swap +/- จะโชว์ขึ้นในบัญชีเทรดหลังจากเวลาปิดตลาดประมาณ 1 ชั่วโมง

อัตราค่า Swap นั้นแล้วแต่ที่โบรคเกอร์ของคุณกำหนดไว้ ส่วนใหญ่คุณจะต้องเสียค่า Swap เล็กน้อยจนถึงมาก โดยคืนวันเสาร์และอาทิตย์ไม่มีการคิดค่า Swap แต่จะไปทบในคืนวันพุธแทนซึ่งค่า Swap คืนวันพุธจะมีค่าเป็น 3 เท่าของค่า Swap ปกติ(ซึ่งตรงนี้เองที่หลายคนพลาดแล้วรู้สึกไม่แฟร์) เนื่องจากเป็นการรวบยอดจากคืนวันเสาร์-อาทิตย์มารวมไว้ด้วย โดยสรุปแล้ว Swap ถือเป็นคอมมิชชั่นแบบหนึ่งที่เป็นทั้งบวกและลบคือเราได้และเราจ่าย ซึ่งผมได้กล่าวเรื่อง Swap นี้อย่างละเอียดแล้วในบทความ “Swap คืออะไร” ลองเข้าไปอ่านดูได้ครับ

 

Commission

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโบรกเกอร์

บ่อยครั้งที่หลาย ๆ คนจะไม่ค่อยมั่นใจบริการของโบรกเกอร์ ที่บอกว่า โบรกเกอร์ของเราจ้องจะให้เราล้างพอร์ท เพื่อที่จะได้เงินจากตรงนั้นทั้งหมด เอาจริง ๆ แล้วโบรคเกอร์ไม่เคยคิดว่าจะให้เราล้างพอร์ทเลยครับ เพราะอะไรหน่ะหรือ?  เพราะว่า ใคร ๆ ก็อยากจะได้กำไรจากเราในระยะยาว ให้เราเทรดไปเรื่อย ๆ และเขาก็กินค่าคอมมิชชั่นไปเรื่อยๆ  เช่นกันครับ ดังนั้นไอ้คำที่ว่า ลากมาโดน Stop Loss แล้วให้ราคาไปอยู่ทีเดิมบ้างหล่ะ Stop Loss Hunter บ้างนั้น เป็นความคิดไปเองฝ่ายเดียว เพราะว่า เขาอยากจะได้รายได้จากเราในระยะยาวมากกว่าที่จะมาคาดหวังเงิน 100 – 200 เหรียญแต่ได้ครั้งเดียวและให้เราเข็ดออกจากตลาดไป 

สรุป

Commission คือค่าบริการที่เราต้องเสียให้กับทางโบรกเกอร์เมื่อทำการเปิดคำสั่งซื้อขายตามเงื่อนไขของทางโบรกเกอร์ โดยค่า Commission นั้นจะแบ่งย่อยได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นค่า Spread, Swap, หรือแม่แต่ค่านายหน้าในกรณีของ Partner หรือ IB แต่ในส่วนที่เราจะต้องเสียแน่ๆ เลยคือค่า Spread กับ Commission ซึ่งแต่ละโบรกเกอร์จะทำการกำหนดมาไม่เท่ากัน และในส่วนนี้ก็ได้แสดงให้เห็นถึงความจริงใจของโบรกเกอร์ที่มีต่อลูกค้า ว่าจะเอาเปรียบลูกค้ามากน้อยเพียงใด หวังว่าเพื่อน ๆ จะสามารถนำความรู้จากบทความนี้ ไปประยุกต๋์ใช้เพื่อตัดสินใจในการเลือกใช้โบรกเกอร์ของเพื่อน ๆ ได้อย่างเหมาะสมนะครับ   

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

สามารถศึกษาความรู้เพิ่มเติมได้ตามแหล่ง ดังต่อไปนี้ 

คอร์สเรียนสำหรับมือใหม่ ฟรี!! คลิกที่นี่

คลังบทความความรู้ทั่วไป คลิกที่นี่

โบรกเกอร์สำหรับมือใหม่ คลิกที่นี่ 

บทวิเคราะห์รายวัน คลิกที่นี่

 


บทความ แนะนำ
คอร์สเรียน Forex ยอดนิยม